ไม่ได้ลงเรือลำเดียวกัน
(Not In the Same Boat)
การค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการค้าทาสในห่วงโซ่อุปทานกำลังเป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก รายงานหลายฉบับชี้ว่าแรงงานอพยพถูกค้าเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย แต่ยังไม่มีรายงานฉบับใดบันทึกพยานหลักฐานอย่างครอบคลุมถึงการแพร่กระจาย (prevalence) ของแรงงานบังคับและการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานบนเรือประมงไทย องค์การยุติธรรมนานาชาติ (ไอเจเอ็ม) โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิวอลมาร์ท (Walmart Foundation) จึงมอบหมายให้สถาบันอิสรา (Issara Institute) ทำการวิจัยและบันทึกพยานหลักฐานรูปแบบการแพร่กระจายของแรงงานบังคับในประเทศไทย
ผลการวิจัยที่สำคัญ
งานวิจัยนี้เป็นการสำรวจชาวพม่าและชาวกัมพูชาทั้งที่เป็นชาวประมงอยู่ในปัจจุบันและที่เคยเป็นชาวประมงในประเทศไทย การศึกษาพบว่าการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานอพยพบนเรือประมงไทยมีการแพร่กระจายและมีรูปแบบร่วมหลายอย่าง
ชาวประมงที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในระหว่างปี พ.ศ. 2554 ถึงเดือนสิงหาคมของปี พ.ศ. 2559 ระบุว่า:
- ร้อยละ 37.9 ถูกค้ามนุษย์
- ร้อยละ14.1 ถูกทารุณกรรมทางร่างกาย และร้อยละ 31.5 ได้รับรู้การถูกทารุณของเพื่อนลูกเรือ และ
- ร้อยละ 76.2 เป็นหนี้ค้างจ่ายก่อนเริ่มงาน (ไม่ว่าจะเป็นต่อนายจ้าง นายหน้า หรือผู้ดูแลทั้งหมด)
สถานการณ์ข้างหน้า
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยทวีความเข้มข้นในการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างมาก รายงานวิจัยนี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการยุติการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง แม้จะมีความคืบหน้าเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็มีส่วนที่รอการแก้ไข องค์การฯเชื่อว่าข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเสริมสร้างความพยายามในการร่วมมือกันเพื่อยุติการใช้แรงงานบังคับ
รัฐบาลไทยจัดทำรายงานความก้าวหน้าในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยประจำปี พ.ศ. 2559 และพ.ศ. 2560 ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยเป็นผู้นำในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามพรมแดนที่ซับซ้อนนี้:
- ประเทศไทยเพิ่มความเข้มงวดของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ปี พ.ศ. 2551 โดยการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2558 และปี พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ค้ามนุษย์และขยายความให้ชัดเจนว่าการยึดเอกสารประจำตัวและการใช้แรงงานขัดหนี้ถือเป็นรูปแบบของแรงงานบังคับ
- ประเทศไทยออกพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบยุติธรรมในการตอบสนองต่อคดีการค้ามนุษย์ พระราชบัญญัติฉบับนี้เพิ่มความรวดเร็วให้แก่กระบวนการยุติธรรม โดยระบุว่าการพิจารณาคดีค้ามนุษย์จะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาหนึ่งปีและอนุญาตให้ใช้คำเบิกความทางวิดีโอเป็นพยานหลักฐาน เพื่อลดภาระของผู้เสียหาย เพิ่มการคุ้มครองแก่พยาน รวมถึงให้การสนับสนุนอื่นๆ ต่อผู้เสียหายด้วย
- ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำแต่ละส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประกอบไปด้วยกองบังคับการตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ แผนกคดีค้ามนุษย์ประจำศาลอาญา สำนักงานคดีค้ามนุษย์ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และกองต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำกระทรวงพัฒนาสังคมฯ
องค์การยุติธรรมนานาชาติ สำนักงานกรุงเทพ พร้อมจะให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยในฐานะผู้นำของการประสานความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ในรูปแบบของแรงงาน องค์การฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้จะช่วยสนับสนุนรัฐบาลไทยในการระดมกำลังเข้าแก้ไขปัญหาในจุดที่มีความจำเป็นที่สุดและต่อยอดความคืบหน้าในการบังคับใช้กฎหมายที่ปรับปรุงแล้วให้เกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อไป—องค์การยุติธรรมนานาชาติ สำนักงานกรุงเทพ